วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

5 สถานที่สำคัญแหล่งมรดกโลกในไทย


5 สถานที่สำคัญแหล่งมรดกโลกในไทย 

ารขึ้นทะเบียนมรดกโลกคณะกรรมการมรดกโลกขององค์การ ศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้มีการคัดเลือกและขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2515 เพื่อเป็นการอนุรักษ์และเชิดชูคุณค่าของแหล่งมรดกโลก ซึ่งมีทั้งธรรมชาติสร้างขึ้น และ ที่มนุษย์สรรค์สร้างขึ้น เพื่อปกป้องรักษาให้ดำรงคงอยู่เป็นมรดกแห่งมวลมนุษยชาติต่อไป


    ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาคุ้มครองมรดกโลกเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2530 และเคยได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการมรดกโลกมาแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกระหว่างปี 2532 - 2538  ครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2540 - 2546  และครั้งล่าสุดระหว่างปี  2552 - 2556 ขณะที่ประเทศไทย มีแหล่งมรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วถึง 5 แห่งด้วยกัน ทั้งแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรม และ แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ
โดยแห่งแรก คือ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ซึ่งมีความรุ่งเรืองในอดีตช่วงใกล้เคียงกันอาณาจักรสุโขทัยถือเป็นราชธานี แห่งแรกของไทย เป็นศูนย์กลางความเจริญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19
อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 15 เมื่อปี พ.ศ. 2534 ที่เมืองคาร์เทจ ประเทศตูนิเซีย โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นตัวแทนในการแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด ของมนุษย์ และ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
ลำดับที่ 2 คือ อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาราชธานีเก่าแก่ของไทยที่มีความเจริญ รุ่งเรืองยาวนานถึง 417 ปี แม้ว่าภายหลังจะถูกทำลายลงจากภัยสงคราม แต่ยังคงเหลือโบราณสถานและโบราณวัตถุที่เป็นหลักฐานแสดงถึงความเจริญ รุ่งเรือง และ ความมีอัจฉริยภาพของบรรพบุรุษของชาวกรุงศรีอยุธยา
อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดก โลก จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ณ กรุงคาร์เทจ ประเทศตูซิเนีย เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2534 โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรม หรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
ลำดับที่ 3 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งโบราณคดีที่แสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตของผู้คนยุคก่อนประวัติ ศาสตร์ ย้อนหลังไปกว่า 4,300 ปี ซึ่งมีวัฒนธรรมที่มีพัฒนาการแล้วในหลาย ๆ ด้าน โดยเฉพาะภูมิปัญญาในการดำรงชีวิต
 แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงนั้น ครอบคลุมถึงแหล่งโบราณคดีในภาคตะวัน-ออกเฉียงเหนืออีกกว่าร้อยแห่ง ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่ที่มีมนุษย์อยู่อาศัยหนาแน่นมาตั้งแต่หลายพันปีก่อน องค์การยูเนสโก จึงได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี พ.ศ.2535 จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 16 ที่เมืองแซนตาเฟ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีคุณสมบัติ คือ เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ใน ปัจจุบันหรือว่าที่สาบสูญไปแล้ว
ลำดับที่ 4 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้งผืนป่าอันยิ่งใหญ่และมี ชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยผืนป่าอนุรักษ์ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าด้านตะวันออก และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 6,000 ตารางกิโลเมตร หรือ กว่า 3,800,000 ไร่ อยู่ภายในเขต จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดตาก และ จังหวัดกาญจนบุรี
 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรและห้วยขาแข้ง ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในปี พ.ศ. 2534 และเป็นสถานที่ธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียออกเฉียงใต้ที่ได้เป็นมรดกโลก โดยมีคุณสมบัติตามหลักเกณฑ์ คือ เป็นตัวอย่างที่เด่นชัด ในการเป็นตัวแทนของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทางธรณีวิทยา หรือวิวัฒนาการทางชีววิทยา และปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติที่กำลังเกิดอยู่ เป็นแหล่งที่เกิดจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีเอกลักษณ์หายากหรือสวยงาม เป็นพิเศษ และ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือ ที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่ว โลกให้ความสนใจด้วย
 และสุดท้าย อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน อุทยานแห่งชาติปางสีดา อุทยานแห่งชาติตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดคือ นครราชสีมา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์ มีพื้นที่ป่ารวมกันเกือบ 4,00,000 ไร่ หรือ ประมาณ 6,200 ตารางกิโลเมตร ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกภายใต้ชื่อ "ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่"จากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 29 เมื่อปี พ.ศ. 2548 ที่เมืองเดอร์บัน ประเทศแอฟริกาใต้ โดยมีคุณสมบัติ ในข้อที่ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดสัตว์และพันธุ์พืชที่หายาก หรือที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย แต่ยังคงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งรวมถึงระบบนิเวศอันเป็นแหล่งรวมความอุดมสมบูรณ์ของพืชและสัตว์ที่ทั่ว โลกให้ความสนใจ

 

1 ความคิดเห็น: